เวลาให้บริการ: จันทร์ - ศุกร์ - 08.30 - 16:30 น. ปิดวันอาทิตย์

Faq

คำถามสู่ความสำเร็จในอนาคต: เด็กรุ่นใหม่ เรียนสายอาชีพดีไหม ?

  ต่อไปค่านิยมที่ว่าเรียนจบสายสามัญคือความภาคภูมิใจ ได้ใบปริญญา…ต่อไปได้เป็นเจ้าคนนายคน อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะในปัจจุบัน trend การศึกษาในสายอาชีพกำลังมาแรงแซงทางโค้ง จากตัวเลขบัณฑิตล้นงาน เพราะขาดทักษะเฉพาะทาง เรียนจบมาไม่ตรงคุณสมบัติที่ภาคธุรกิจต้องการ ประกอบกับความขาดแคลนของตลาดแรงงานฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญสูง ทำให้ต้องหันกลับมาพิจารณากันว่า ค่านิยมด้านการศึกษาของบ้านเรากำลังมุ่งไปถูกทิศทางหรือไม่ นอกจากนั้นยังส่งผลให้เด็กนักเรียนหรือคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนเกิดคำถามในใจว่า เรียนสายอาชีพดีไหม และการเรียนสายอาชีพมีจุดแข็งหรือข้อดีอย่างไรสำหรับอนาคตของพวกเขา

 เรียนสายอาชีพดีไหม

            เพราะด้วยภาพลักษณ์แบบเดิม ๆ ของการเรียนสายอาชีพ ที่ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกรองของเด็กที่มีผลการเรียนระดับปานกลางถึงผลการเรียนอ่อนด้อย บวกกับภาพของนักเรียนนักเลง อาชีวะยกพวกตีกัน (ทั้งที่จริงแล้วเป็นส่วนน้อยของนักเรียนนักศึกษาสายอาชีพทั้งหมด) รวมไปถึงความเข้าใจอันน้อยนิดเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนในสายอาชีพของคนส่วนใหญ่ ล้วนส่งผลให้การเลือกเรียนสายอาชีพในบ้านเราไม่ปังเท่าที่ควร JobsDB จะพาไปพบกับมุมมองใหม่ ๆ ของการเรียนสายอาชีพว่าดีต่อใจอย่างไร และให้อะไรมากกว่าที่คิดกันบ้าง

ไขข้อสงสัย: เรียนสายอาชีพดีไหม?

  1. เรียนสายอาชีพ…ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ มีรายได้ระหว่างเรียน

       สำหรับข้อแรกนี้อาจตอบคำถามในใจใครหลาย ๆ คนที่สงสัยและกำลังลังเลใจว่าการเรียนสายอาชีพดีไหม ทางเราต้องบอกเลยว่า จุดแข็งหรือข้อดีที่คุณจะได้รับจากในการศึกษาสายอาชีพนอกจากการเรียนทฤษฎีแล้ว หลักสูตรสายอาชีพยังมุ่งเน้นการลงมือภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ทุกหลักสูตรมีการฝึกงานเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และทักษะวิชาชีพตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ไม่น้อยกว่า 300 ชั่วโมง นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติงานจริง ฝึกใช้อุปกรณ์ เรียนรู้กระบวนการในสายอาชีพนั้น ๆ เป็นประสบการณ์ตรงจากหน้างาน เรียกว่าได้ทั้งความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์การทำงาน และยังสามารถหารายได้ด้วยตัวเองจากงานพิเศษ Part time ได้อีกทางหนึ่ง

  1. ได้ทักษะวิชาชีพติดตัว

       การได้มีโอกาสฝึกงานระหว่างเรียนสายอาชีพให้อะไรมากกว่าการเรียนรู้จากตำราเพียงอย่างเดียว เพราะการฝึกฝนปฏิบัติงานเป็นประจำย่อมทำให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญติดตัวผู้เรียนไปตลอด เมื่อศึกษาจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพก็สามารถใช้เป็นใบเบิกทางสมัครงานได้เลย มีงานรองรับอยู่เพียบ บางคนก็ไม่ต้องหางานให้เหนื่อย เพราะมีคนมาจองตัวให้ทำงานด้วยทันที ไม่มีฟีลเตะฝุ่นกลัวตกงาน แถมต่อไปเมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้พอตัว ก็ยังสามารถหาช่องทางสร้างกิจการเป็นของตนเองได้อีกด้วย

  1. ได้เลือกเรียนหลากหลาย

       น้อยคนมากที่จะรู้ว่า ที่จริงแล้วหลักสูตรสายอาชีพมีให้เลือกเรียนหลากหลายแขนง แถมแต่ละสาขาก็น่าสนใจ เลือกเรียนไปแล้วมีตำแหน่งงานรออยู่ชัวร์ ๆ นักเรียนนักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจและความถนัดของตนเอง หรือจะเลือกเรียนสาขาที่ตลาดแรงงานขาดแคลนก็ดีต่ออนาคตไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสาขาช่างยนต์ การบัญชี ช่างกลโรงงาน การตลาด ช่างไฟฟ้า ฯลฯ ตรงโจทย์ความต้องการ ผู้ประกอบการต้องไม่มองข้ามอย่างแน่นอน

  1. ได้รับความนิยมจากตลาดแรงงาน

       ตำแหน่งงานในปัจจุบันกำลังขาดแคลนช่างฝีมือและบุคลากรวิชาชีพทักษะเฉพาะอยู่เป็นจำนวนมาก บางครั้งคนเรียนจบสายสามัญมา แม้จะมีปริญญาตรงกับสายงาน แต่ก็ยังขาดประสบการณ์ในการทำงานจริง คนจบสายอาชีพจึงมีข้อได้เปรียบมากกว่า เรียกได้ว่าครบเครื่อง มีความพร้อมมากกว่า จ้างเข้ามาทำงานก็ไม่ต้องเสียเวลาฝึกงานนาน พร้อมทำงานได้ทันที และถ้ายิ่งจบสายอาชีพมาพร้อมกับมีทักษะด้านภาษาที่ 2 หรือ 3 ยังสามารถโกอินเตอร์ไปทำงานกับบริษัทต่างชาติ การันตีว่ารายได้สูงไม่น้อยหน้าใคร แถมท้ายอีกนิดกับแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต ค่าจ้างระดับวุฒิ ปวช. ปวส. อาจตีเสมอหรือสูงกว่าวุฒิปริญญาตรีก็เป็นได้ ที่มีกระแสเช่นนี้ก็เพราะตลาดแรงงานต้องการแรงงานที่มีทักษะและประสบการณ์มากกว่าใบปริญญานั่นเอง

  1. ได้โอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษา

    ใครบอกว่าเรียนสายอาชีพแล้วจะมีวุฒิแค่ ปวช. ปวส. คงต้องอัพเดทข้อมูลใหม่ เพราะหลายๆ สถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบัน หันมารับนักเรียนนักศึกษาสายอาชีพให้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีกันมากขึ้น โดยเปิดหลักสูตรพิเศษน่าสนใจ อย่างเรียน ปวส. 2 ปี + หลักสูตรต่อเนื่อง ป.ตรี อีก 2 ปี สนับสนุนให้เด็กสายอาชีพได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้น สานฝันคว้าใบปริญญามาให้ครอบครัวได้ภาคภูมิใจต่อไป

  1. ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

       ด้วยกระแสของตลาดแรงงานที่ต้องการวิชาชีพเฉพาะด้านมาเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตก้าวหน้า หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงให้การสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพกันถ้วนหน้า ให้สอดรับกับความต้องการแรงงานด้านนี้ จูงใจนักเรียนนักศึกษาให้หันมาสนใจเลือกเรียนสายอาชีพ ทั้งให้ทุนการศึกษา และตำแหน่งงานดี ๆ หลังจบการศึกษา ที่ไม่ได้หากันง่าย ๆ

  1. ได้ทำอะไรตอบแทนสังคม

       อีกแง่มุมที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับรู้เกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ที่นักเรียนนักศึกษาสายอาชีพได้ทำให้สังคม คือ กิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ ทั้งช่วยเหลือบริการประชาชน ซ่อมรถยนต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์-ปีใหม่ ช่วยเหลือชาวบ้านซ่อมแซมบ้านเรือน- เครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อเกิดอุทกภัย ฯลฯ โดยอาศัยความรู้และทักษะวิชาชีพที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม หรือแม้แต่เป็นตัวแทนไปประกวดแข่งขันด้านทักษะและนวัตกรรม จนคว้ารางวัลสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ นักเรียนนักศึกษาสายอาชีพก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีดีไม่น้อยไปกว่านักเรียนนักศึกษาสายสามัญเช่นกัน

          จากข้อดีของการศึกษาในสายอาชีพที่เรานำมาฝากกันข้างตน อาจจะเป็นคำตอบสำหรับนักเรียนหรือผู้ที่มีคำถามในใจว่า เรียนสายอาชีพดีไหม ให้กลับมาลองคิดใหม่และเปิดใจให้กับการศึกษาสายอาชีพกันมากขึ้นแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นดี ๆ ของการสร้างคน สร้างงาน สร้างกำลังสำคัญที่จะมาเป็นฟันเฟืองพัฒนาเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศกันต่อไป เรียนสายอาชีพ…ให้อะไรและดีต่อใจมากกว่าที่คิด เรียนจบ มีทักษะ มีประสบการณ์ มีโอกาสเรียนต่อระดับปริญญา แถมจบมาไม่ตกงานอย่างแน่นอน

การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี หมายถึง การจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การจัดการฝึกอาชีพ การวัดและประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ
               ทั้งนี้ การจัดการอาชีวศึกษาตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 สถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันสามารถทำได้ 3 รูปแบบ คือ ในระบบ นอกระบบและระบบทวิภาคี โดยจัดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายแบบรวมกันก็ได้ แต่ต้องมุ่งเน้นการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นสำคัญเพื่อประโยชน์ ในการผลิตและพัฒนากำลังคน

สถานประกอบการที่ร่วมมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน หมายถึง บริษัท ห้างหุ้นส่วน ร้านค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานภาครัฐ

หลักการสำคัญของการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี มีดังนี้

  1. เป็นการจัดการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อผลิตกำลังคนในระดับช่างฝีมือ ระดับช่างเทคนิค และระดับนักเทคโนโลยี โดยความร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ และมีองค์กรกลางระดับชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับติดตาม ประสานงานและดำเนินการ
  2. ​ผู้เรียนมีสถานภาพเป็นทั้งพนักงานฝึกหัดของสถานประกอบการ และเป็นนักศึกษาของสถานศึกษา โดยมีสัญญาการฝึกอาชีพเป็นข้อตกลงร่วมกัน โดยมีการระบุข้อความอันเป็นสาระสำคัญ ได้แก่ จุดประสงค์ของการฝึก ลักษณะงานที่ฝึก ลำดับขั้นตอนการฝึก ระยะเวลาของการฝึก ชั่วโมงการปฏิบัติงานต่อวัน ค่าตอบแทนหรือค่าครองชีพและสวัสดิการที่จะได้รับระหว่างการฝึกอาชีพ และการเรียนในสถานศึกษา เป็นต้น
  3. สถานประกอบการมีหน้าที่ฝึกงานอาชีพให้แก่ผู้เรียน โดยใช้แนวปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องมือและบุคลากรของสถานประกอบการ ภายใต้สถานการณ์และวัฒนธรรมการทำงานจริง
  4. สถานศึกษามีหน้าที่จัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎี ปฏิบัติเบื้องต้น และจัดกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่กำหนดในหลักสูตรหรือมาตรฐานวิชาชีพ
  5. เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตร/ปริญญาบัตร ตามระดับการศึกษา และหนังสือรับรองมาตรฐานวิชาชีพ สามารถนำไปใช้ในการเข้าศึกษาต่อหรือเข้าทำงานได้

ผู้เรียนต้องดำเนินการดังนี้

1.  ติดต่อสอบถามสถานศึกษาสังกัด สอศ. หรือ ฝ่ายบุคคลของสถานประกอบการที่ร่วมจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี
2. สมัครเข้าเป็นนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในสาขาวิชา/สาขางาน และระดับการศึกษาที่ต้องการ
3. ผ่านการคัดเลือก ซึ่งพิจารณาร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ
4. ลงทะเบียนเรียน เข้าเรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

 ผู้เข้าเรียนอาชีวศึกษาในแต่ละระดับหลักสูตร จะต้องมีพื้นความรู้และคุณสมบัติเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรนั้น ๆ คือ

ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

พื้นความรู้      สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า
คุณสมบัติ

  1. มีความประพฤติเรียบร้อย
  2. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียน
  3. มีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งโดยมีทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หรือมีหลักฐานของทางราชการในลักษณะเดียวกันมาแสดง
  4. มีความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธาต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
  5. มีเจตคติที่ดีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  6. สำหรับผู้เข้าเรียนการศึกษาระบบทวิภาคี ในวันทำสัญญาการฝึกอาชีพต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และมีความตั้งใจที่จะรับการฝึกอาชีพในสาขาวิชาที่สมัคร​

ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

พื้นความรู้      สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่าตามประเภทวิชาและสาขาวิชาที่กำหนด หากสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพที่ต่างสาขาวิชา หรือสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ซึ่งไม่มีพื้นฐานวิชาชีพ ต้องเรียนรายวิชาปรับพื้นฐานวิชาชีพตามที่สาขาวิชากำหนด
คุณสมบัติ

  1. มีความประพฤติเรียบร้อย
  2. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียน
  3. มีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งโดยมีทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หรือมีหลักฐานของทางราชการในลักษณะเดียวกันมาแสดง
  4. มีความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธาต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
  5. มีเจตคติที่ดีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  6. สำหรับผู้เข้าเรียนการศึกษาระบบทวิภาคี ในวันทำสัญญาการฝึกอาชีพต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ และมีความตั้งใจที่จะรับการฝึกอาชีพในสาขาวิชาที่สมัคร

ทั้งนี้  สถานศึกษาสามารถกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าเรียนตามโครงการต่าง ๆ ของสถานศึกษาเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมของโครงการนั้น

คำถาม :  สถานประกอบการจะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง? ในการร่วมมือจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี
คำตอบ :  สถานประกอบการจะได้รับประโยชน์ในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ดังนี้

  1. ได้รับสิทธิประโยชน์ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดหย่อนภาษี การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  2. ได้เตรียมกำลังคนไว้ในอนาคต ตรงตามสมรรถนะอาชีพที่ต้องการ
  3. ลดภาระการทำงานของฝ่ายบุคลากร
  4. ​มีภาพลักษณ์ที่ดีด้านการส่งเสริมการศึกษา

คำถาม :  บุคลากรของสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีประกอบด้วยใครบ้าง
คำตอบ :  บุคลากรในส่วนของสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ได้แก่

  1. ผู้ควบคุมการฝึก คือ ผู้ที่สถานประกอบการมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานกับสถานศึกษาในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี และรับผิดชอบดูแลการฝึกอาชีพของผู้เรียนในสถานประกอบการ
  2. ครูฝึก คือ ผู้ทำหน้าที่สอน ฝึก อบรมในสถานประกอบการ
  3. ผู้ประสานงานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี คือ ผู้ที่สถานประกอบการแต่งตั้ง มอบหมายให้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือ ติดต่อสื่อสาร ประสานงาน ดำเนินการเพื่อให้การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีร่วมกับสถานศึกษาบรรลุตามวัตถุประสงค์

คำถาม  ครูฝึกในสถานประกอบการมีข้อกำหนดและบทบาทหน้าที่อย่างไร
คำตอบ :  ข้อกำหนดและบทบาทหน้าที่ของครูฝึกในสถานประกอบการ มีดังนี้
                ข้อกำหนดของครูฝึกในสถานประกอบการ คือมีคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาการฝึกอาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงต้องมีครูฝึกหนึ่งคนต่อผู้เรียนไม่เกินสิบคน ระดับปริญญาตรีต้องมีครูฝึกหนึ่งคนต่อผู้เรียนไม่เกินแปดคน

  1. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูฝึกตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด
  • บทบาทของครูฝึกในสถานประกอบการ คือ
  1. เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator)
  2. การเป็นผู้ประสานงาน (Liaison Person)
  3. การเป็นพี่เลี้ยง (Mentor)
  4. การเป็นผู้สอนงาน (Coaching)
  5. การเป็นผู้พัฒนาสื่อการฝึก (Material and Developer)
  6. การเป็นผู้ประเมิน (Evaluator)
  • หน้าที่ของครูฝึกในสถานประกอบการ คือ
  1. ประสานงานการจัดฝึกอาชีพและอำนวยความสะดวกในการจัดการฝึก
  2. ศึกษาแผนการฝึกของผู้เรียนในสถานประกอบการ
  3. จัดทำแผนการฝึกอาชีพร่วมกับสถานศึกษา
  4. ให้ความรู้และสอนงานตามแผนการฝึกให้ผู้เรียน
  5. ควบคุมดูแลผู้เรียนในการฝึกอาชีพตามแผนการฝึก
  6. แก้ไขปัญหาร่วมกับครูนิเทศก์ ครูประจำรายวิชา
  7. ร่วมสัมมนาในการนำเสนอผลการฝึกอาชีพของผู้เรียน กับครูนิเทศก์ และครูประจำรายวิชา
  8. ประเมินผลการฝึกอาชีพของผู้เรียน
  9. รายงานผลการฝึกอาชีพต่อผู้บังคับบัญชา

คำถาม :  ครูฝึกในสถานประกอบการต้องมีความรู้ในเรื่องใดบ้าง?
คำตอบ :  ครูฝึกในสถานประกอบการควรมีความรู้ในเรื่องต่อไปนี้

  1. การทำแผนฝึกอาชีพ
  2. เทคนิคการสอนงาน
  3. การวัดและประเมืนผล
  4. การพัฒนาเอกสารและสื่อประกอบการฝึกอาชีพ
  5. การกำกับดูแลผู้เรียนที่ฝึกอาชีพตามหลักจิตวิทยาวัยรุ่นและจิตวิทยาในการทำงาน
  6. การพัฒนาพฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ของผู้เรียนที่ฝึกอาชีพ ในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพ และการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  7. การเสริมสร้างวินัย ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน รวมทั้งมนุษยสัมพันธ์และการบริการในงานอาชีพ

คำถาม  สถานประกอบการที่ร่วมจัดฝึกอาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี สามารถนำไปรับสิทธิประโยชน์ได้หรือไม่?
คำตอบ :  การดำเนินการฝึกที่สามารถนำมารับสิทธิประโยชน์ได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กำหนดไว้ ประกอบด้วย

  1. การฝึกเตรียมเข้าทำงาน เป็นการฝึกที่ผู้ประกอบกิจการจัดฝึกอบรมให้บุคคลทั่วไป (ซึ่งไม่ใช่ลูกจ้าง) เพื่อให้บุคคลดังกล่าว สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ก่อนเข้าทำงาน รวมถึงการรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือผู้ที่ ทางราชการส่งมาฝึก ด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผู้ประกอบกิจการต้องจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึก เสนอนายทะเบียนให้ความเห็นชอบ ก่อนฝึกต้องทำสัญญาการฝึก เมื่อจบต้องออกหนังสือรับรองและแจ้งนายทะเบียนทราบ ระยะเวลาการฝึกต้องไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง เป็นต้น
  2. การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน เป็นการฝึกที่ผู้ประกอบกิจการ ซึ่งเป็นนายจ้างจัดฝึกอบรมให้ลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้มีความรู้ ความสามารถและทักษะเพิ่มขึ้นในสาขาอาชีพที่ลูกจ้างได้ปฏิบัติงานอยู่ตามปกติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น หลักสูตรต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้าง เนื้อหามีความสอดคล้องและเป็นประโยชน์กับกิจการของสถานประกอบกิจการนั้น ระยะเวลาการฝึกต้องไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ผู้รับการฝึก กรณีอบรมโดยการบรรยายต้องไม่เกินกลุ่มละ 100 คน กรณีฝึกอบรมโดยการจัดกิจกรรมกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 50 คนต่อวิทยากร 1 คน และกรณีการฝึกอบรมทักษะฝีมือซึ่งต้องมีภาคปฏิบัติกลุ่มละไม่เกิน 25 คน ต่อวิทยากร 1 คน โดยต้องยื่นขอรับรองหลักสูตรภายใน 60 วัน นับแต่เสร็จสิ้นการฝึก แต่ต้องไม่เกินวันที่ 15 มกราคมของปีถัดไป (แล้วแต่ระยะเวลาใดถึงก่อน) และผู้รับการฝึกต้องเข้าอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาอบรมทั้งหลักสูตร
  3. การฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ เป็นการฝึกอบรมที่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นนายจ้างอบรมให้ลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้มีความรู้ ความสามารถที่จะทำงานในสาขาอาชีพอื่น ที่ลูกจ้างมิได้ปฏิบัติงานอยู่ตามปกติ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น หลักสูตรต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้างให้ทำงานในสาขาอาชีพอื่นได้ ด้วยระยะเวลาฝึกต้องไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง โดยจำนวนผู้รับการฝึกแต่ละกลุ่ม ระยะเวลาการยื่นขอรับรองหลักสูตรและจำนวนเวลาการเข้าฝึกอบรมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน

การฝึกอบรมทั้ง 3 แบบ ผู้ประกอบกิจการอาจจัดการฝึกอบรมเอง (In-House Training) หรือส่งไปรับการฝึกภายนอก (Public Training) กับสถานศึกษา หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานของทางราชการ หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานอื่น ที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบก็ได้ และการฝึกอบรมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ กรณีของการฝึกอาชีพในสถานประกอบการของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีจัดเป็นการฝึกเตรียมเข้าทำงาน จึงสามารถนำไปขอรับสิทธิประโยชน์ได้

คำถาม  การฝึกอาชีพในสถานประกอบการสำหรับนักเรียน นักศึกษา ใช้หลักสูตรอะไร?
คำตอบ :  การฝึกอาชีพแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่สถานศึกษาส่งเข้ารับการฝึก ให้ใช้หลักสูตรของสถานศึกษา หรือหลักสูตรของผู้ดำเนินการฝึก หรือหลักสูตรที่สถานศึกษากับผู้ดำเนินการฝึกได้ร่วมกันจัดทำขึ้น

<iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube-nocookie.com/embed/5IQ3RDoAQ3Q" title="YouTube video player" frameborder="0" allow="accelerometer; autoplay; clipboard-write; encrypted-media; gyroscope; picture-in-picture" allowfullscreen></iframe>